วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมืองเหนือจินตนาการ อุทัยธานี


อุทัยธานี เมืองเล็กๆ อันสงบเงียบริมฝั่งแม่น้ำสะแกกรัง นี่อาจเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไม่เคยรู้เลยว่ามีความงดงามอย่างเหนือจินตนาการมาก่อน สิ่งที่เราจดจำได้ที่เมืองแห่งนี้คงเป็นภาพของพระภิกษุราว 500 รูป ซึ่งพากันเดินจากยอดเขาสะแกกรัง วัดสังกัสรัตนคีรี เพื่อลงมารับบาตรจากพุทธศาสนิกชนในวันออกพรรษางดงามราวกับว่าเดินลงมาจากสวรรค์

นี่คือเมืองที่แสนเรียบง่าย เล็กๆ แต่มากด้วยวิถีชีวิตของชาวเรือนแพที่เรียงรายอยู่ตลอดสองฝั่งแม่น้ำสะแกกรังอันคดโค้ง ไม่ใช่เรือนแพรีสอร์ทแต่อย่างใด แต่เป็นเรือนแพแท้ๆเป็นแพที่ผู้คนใช้ชีวิตอยู่กับมัน เป็นทั้งที่พักที่อยู่และที่ทำกินในเมืองอุทัย ที่ถือว่าเจริญที่สุดของที่นี่ ยังคงอุดมไปด้วยบ้านไม้และไร้ตึกสูงให้เห็น อันเป็นเสน่ห์ของเมืองที่ให้อารมณ์ย้อนยุคอย่างเต็มเปี่ยม

แต่ไม่ไกลนักภายใต้ความเรียบง่ายของชุมชนจนดูเหมือนจะเป็นเมืองที่ไม่มีอะไรให้รู้สึกพิเศษเหนือจินตนาการ หากเดินทางเลาะเลียบแม่น้ำสะแกกรังนี้ไปที่ วัดจันทารามหรือวัดท่าซุง ของหลวงพ่อฤาษีลิงดำซึ่งผู้คนไปกราบไหว้เนืองแน่นอยู่ทุกวี่วัน..ที่นี่ท่านจะได้สัมผัสกับประกายแสงแวววับอันน่าอัศจรรย์อยู่ภายในมหาวิหารขนาดใหญ่อันมีนามว่า..วิหารแก้ว

ที่วิหารแก้วแห่งนี้ใหญ่โตอย่างยิ่ง เพดานสูงอย่างยิ่ง ภายในวิหารจึงมากไปด้วยเสาที่เรียงรายอยู่มากมายอย่างยิ่งเช่นกัน ทุกเสาทุกต้นรวมถึงผืนผนังทุกด้านล้วนถูกประดับประดาไปด้วยแก้วกระจกใสทอดยาวเหยียดถึง 100 เมตร เมื่อยามเปิดไฟกระจกแก้วใสมากมายเหล่านั้นจึงสะท้อนประกายแสงเจิดจ้าไปทั้วทั้งห้องปรากฎเป็นวิหารแก้วที่สวยงามเกินกว่าจินตนาการ เชื่อว่านี่คือวิหารแก้วที่อลังการที่สุดในเมืองไทย จนเป็นเรื่องเล่าขานกันว่า..ใครก็ตามที่เข้ามาในวิหารแก้วนี้จะลืมโลกภายนอกไปเสียสิ้น

ก็เห็นจะจริงดังว่า..เพราะการได้เข้ามาอยู่ภายใต้ความระยิบระยับของเมืองแก้วแห่งนี้ดูมีพลังอะไรบางอย่างที่สะกดตาให้เราอิ่มอลังการกับความสวยงาม และในเวลาเดียวกันมันก็สะกดใจให้เราจดจ่ออยู่กับแสงธรรมที่ระยิบระยับไปทั่วทั้งวิหาร ช่วงเวลานั้นดูเหมือนโลกภายนอกจะเป็นอย่างไรก็ลืมไปจนหมด เหมือนคนสลัดหลุดจากบ่วงของความยุ่งเหยิง เข้ามาอยู่ในเมืองที่สวยปานฝัน

จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นหลายคนห่มขาวมานั่งสงบจิตใจที่นี่ หลายคนเข้ามานมัสการทำบุญ และอีกมากคนที่เข้ามาด้วยความอยากได้มาเห็นและสัมผัสด้วยตาตัวเองสักครั้ง ว่าประกายแก้วจะก่อเกิดปริศนาธรรมอะไรให้ใจเรารับรู้ได้บ้าง ที่วิหารแก้ว วัดท่าซุงแห่งนี้เปิดช่วงเช้า 9.00 - 11.45 น. และช่วงบ่าย 14.00 -16.00 น. ใครจะมาสัมผัสความวิจิตรเหนือจินตนาการของที่นี่ก็กะเวลากันมา ให้ดีจะได้ไม่เสียจินตนาการ


เมืองเล็กๆ เมืองนี้ยังมีสิ่งที่เหนือจินตนาการอยู่อีกหลายอย่าง บ้านเรือนเก่าแก่แถบถนนศรีอุทัยวันนี้ ยังมีความงามของวิถีชีวิตที่น่าค้นหา โดยเฉพาะที่ ตรอกโรงยา ซึ่งเป็นย่านสูบฝิ่นสมัยโบราณ แต่วันนี้กลับเป็นย่านค้าขายที่มีเสน่ห์กับนักท่องเที่ยวซึ่งชอบบรรยากาศแบบย้อนยุค มีของอร่อยให้ลิ้มลองอยู่หลายอย่างชวนให้ไปสักครั้ง

บ้านฮกแซตึ๊ง เป็นบ้านเก่าของคหบดีชาวจีนสมัยก่อนที่เป็นร้านขายยา ทว่าวันนี้เขาปิดกิจการไปนานแล้วเหลือไว้เพียงความทรงจำกับบ้านเก่าที่เป็นตึกซึ่งลูกหลานอนุรักษ์ทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้เป็นอย่างดี จนเมื่อเดินเข้าไปชมความรู้สึกก็เหมือนกับว่าบ้านนี้ยังมีชีวิตและจิตวิญญาณที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง เพราะยังมีให้เห็นทั้งตู้ยาโบราณ ครกบดยา มุมพักผ่อน โต๊ะชั่งตวงวัดและชั้นบนยังเป็นที่บูชาบรรพบุรุษซึ่งมีบรรยากาศและของเก่าแก่ที่สวยงามยิ่งนักยากจะหาที่ใดเหมือน

ใครที่ไม่เคยมีอุทัยธานีอยู่ในบัญชีการท่องเที่ยวมาก่อน ก็คิดใหม่ได้เลย แค่สองชั่วโมงกว่าๆ ใกล้ๆ กรุงเทพฯ แค่นี้เอง จะมาค้างคืนก็พักในเรือนแพก็มีจัดเป็นโฮมสเตย์อยู่หลายแห่ง พักในเรือนแพนี่แหละได้ฟิลลิ่งที่สุด ถ้ามาวันเสาร์ก็มีถนนคนเดินที่ตรอกโรงยา มีของเก่าๆ ให้เลือกดูเลือกซื้อด้วย แต่อลังการเหนือจินตนาการอย่างที่พลาดไม่ได้นั่นคือวิหารแก้ว แค่ได้ไปเห็น ได้ไปนั่งนิ่งๆ ในวิหารสักพัก รับรองจิตใจสวยงามเปล่งประกายดุจแก้วใส..สุดๆ อย่างนี้ เราเลยขอยกให้อุทัยธานีเป็นที่สุดแห่งความน่ารักอีกเมืองหนึ่งของเมืองไทย

ใครที่ไม่เคยมีอุทัยธานีอยู่ในบัญชีการท่องเที่ยวมาก่อน ก็คิดใหม่ได้เลย แค่สองชั่วโมงกว่าๆ ใกล้ๆ กรุงเทพฯ แค่นี้เอง จะมาค้างคืนก็พักในเรือนแพก็มีจัดเป็นโฮมสเตย์อยู่หลายแห่ง พักในเรือนแพนี่แหละได้ฟิลลิ่งที่สุด ถ้ามาวันเสาร์ก็มีถนนคนเดินที่ตรอกโรงยา มีของเก่าๆ ให้เลือกดูเลือกซื้อด้วย แต่อลังการเหนือจินตนาการอย่างที่พลาดไม่ได้นั่นคือวิหารแก้ว แค่ได้ไปเห็น ได้ไปนั่งนิ่งๆ ในวิหารสักพัก รับรองจิตใจสวยงามเปล่งประกายดุจแก้วใส..สุดๆ อย่างนี้ เราเลยขอยกให้อุทัยธานีเป็นที่สุดแห่งความน่ารักอีกเมืองหนึ่งของเมืองไทย










วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลา เมืองลำปาง จ.ลำปาง


มีคำพูดกล่าวว่า.. อารมณ์เมืองมันไม่วิ่งเข้ามาหาเรา เราต่างหากที่ต้องปรับใจให้สนุกและหลิ่วตาตามไปกับเมือง แล้วท่านก็จะเข้าถึง..ฉะนั้นถ้าจะยลเมืองเก่าเมืองนี้ให้ถึงอารมณ์..ก็ต้องแบบที่ลุงอิมปั๋นว่า “ไม่นั่งรถม้าก็มาไม่ถึงเมืองลำปางหรอก..จะบอกให้ รถม้าที่เมืองเนี้ย..ใครไม่เคยขึ้นไม่รู้หรอกว่ามันสูงงงงงขนาดไหน ดูเมืองได้รอบแบบสามร้อยยยย..หกสิบองศา”

ลุงอิมปั๋นหรือลุงหลาน เป็นคนเล่าเรื่องอารมณ์ดี ชักรถม้ามาแล้วกว่า 50 ปี คุยฟุ้งถึงสรรพคุณรถม้าและเมืองลำปางให้เราฟัง แกว่าเดิมลำปางมีหลายชื่อ แต่แกว่าชื่อกุกกุฏนคร(อ่านว่า กุก-กุ-ตะ-นคร แปลว่าเมืองไก่) เนี่ยเหมาะกับเมืองนี้ที่สุด..ทำไมเหรอ..?? ก็เมืองนี้มันเมืองไก่ชัดๆ หันไปทางไหนจะหัวสะพานวงเวียน ซุ้มมณฑป ป้ายถนน กระทั่งตราสัญลักษณ์เมืองก็เป็นตราไก่ เป็นตราไก่ที่คงอยู่คู่เมืองแบบนี้มานับร้อยปีแล้ว

ยามรถม้าของแกวิ่งจากถนนตลาดเก่าวนไปยังถนนทิพย์เนตร มันให้ความรู้สึกเหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่ในเมืองลำปางในสมัยรัชกาลที่ 5 อันเป็นยุคที่ลำปางเป็นเหมือนศูนย์การค้าขายของเมืองทางเหนือ ตลอดเส้นทางถนนตลาดเก่าเลียบคู่ไปกับแม่น้ำวังนี้ เราจึงได้เห็นสภาพของเมืองที่มีมากไปด้วยสถาปัตยกรรมและวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม ที่ล้วนยังคงสภาพเป็นเฉกเช่นเมืองเก่าที่ยังมีชีวิต




มันจึงให้ความรู้สึกเหมือนเป็นเมืองที่ไม่หมุนไปตามกาลเวลาทุกอย่างตึกรามบ้านช่องของที่นี่ ยังเป็นอยู่เช่นเดิม ความงามของ อาคารหม่องโง่ยซิ่น ที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยาม ประเภทอนุรักษ์ดีเด่น และยกย่องให้เป็นสถาปัตยกรรมแบบขนมปังขิงที่สวยที่สุดในประเทศไทยที่ยังคงความดั้งเดิมไว้อย่างสมบูรณ์ ร้านขายยาในแถบถนนย่านนี้เกือบทุกร้านยังเป็นแผนโบราณล้วนๆ มีทั้งแผนยาไทยและยาจีน

ถนนสายนี้จึงเป็นถนนที่มากรายละเอียดสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องนั่งรถม้าชมหนึ่งรอบและเดินเก็บรายละเอียดให้เต็มอิ่มอีกหนึ่งรอบเอาเป็นว่า แค่ฝาท่อระบายน้ำบนถนนสายนี้ใครช่างสังเกตุก้มดูสักนิดก็จะเห็นลายปั้มนูนเป็นรูปรถม้าสวยงามเกินกว่าจะเป็นฝาท่อฉะนั้น แนะนำให้เดินช้าๆ ดูละเอียดๆแล้วท่านจะอิ่มไปกับความน่ารักของเมือง

ยิ่งถ้ามาวันเสาร์อาทิตย์ประมาณห้าโมงเย็น ถนนสายนี้ก็จะปิดสนิท รถทุกชนิดรวมถึงรถม้าก็วิ่งผ่านไม่ได้ เพราะนี่เป็นเวลาของ“กาดกองต้า” (แปลว่า ตลาดตรอกท่าน้ำ) กาดที่ชาวลำปางและชุมชนในย่านนี้เขารวมพลังกันปรุงเสน่ห์ให้ถนนย่านเมืองเก่าแห่งนี้ ทุกบ้านจะช่วยกันเปิดไฟ ทุกร้านจะช่วยกันเติมแต่ง จนดูเป็นถนนเมืองเก่าที่น่าเดินน่าเที่ยว ที่ใครได้มาสัมผัสก็จะได้ความรู้สึกถึงความร่วมแรงใจของคนเมืองแห่งนี้

ผู้คนน่ารัก..เมืองจึงน่ารัก เสน่ห์ของเมืองนี้จึงไม่ใช่แค่เมือง..หากแต่ผู้คนที่นี่ก็เหมือนยังคงหัวใจแบบไทยๆ ที่ย้อนสมัยไปอยู่ในกาลเวลาที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มแห่งการต้อนรับ ใครคิดว่าลำปางเป็นแค่เมืองแวะหรือเมืองผ่าน ลองมาสัมผัสที่ย่านเมืองเก่านี้ดู..พักซะหนึ่งคืนแล้วท่านจะได้พบกับความคุ้มค่าน่ารักบางอย่า่งที่แอบซ่อนอยู่ในเมืองตราไก่แห่งนี้







วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

เมืองชุมชนคนอาร์ต เชียงราย

สำหรับอาร์ตตัวเป้งเช่นคุณ เมืองใดหรือจะเหมาะเท่ากับเชียงราย เพราะที่นี่เป็นชุมชนคนอาร์ตหลายแขนงต่างพากันมาอาศัยสายลมแสงแดดของเชียงรายเป็นแรงบันดาลใจสร้างงานศิลป์ให้เกรียงไกรไม่แพ้ที่ใดในแผ่นดิน เป็นนักวาดก็อยากมาปักหลักที่เชียงรายเป็นนักปั้นขอได้ฝันว่าจะมาอยู่เมืองนี้ เชียงรายจึงมีฝันของศิลปินทุกแขนง จนบางครั้งก็รู้สึกว่าเมืองนี้มันอาร์ตโคตรๆ และอาจทำให้คุณรู้สึกอยากติสต์แตกขึ้นมาซะอย่างงั้น เคยเจอแบบนี้ไหมล่ะ ปาท่องโก๋ ในตลาดเช้าที่มาพร้อมกับเสียงเพลงคลอเบาๆ จากกีตาร์ของคนขาย...อะไรแบบนี้ล่ะที่คุณจะพบได้ในเชียงราย

จนถึงระดับศิลปินรุ่นใหญ่ ดูอย่างท่านอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ท่านก็ยังมาสร้าง วัดร่องขุ่น วัดเดียวในเมืองไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยสีขาวอร่ามตา ประดับไว้เป็นสุดยอดศิลปะของเชียงราย ทุกเวลาเช้าภาพพระอุโบสถสีขาวบริสุทธิ์ที่แวววับกับแสงตะวันคือภาพที่ใครได้เห็นต้องร้องว้าว และจากวัดขาวก็ต้องมาชม บ้านดำของอาจารย์ถวัลย์ ดัชนี กลับมีงานสถาปัตยกรรมที่ลุ่มลึกและส่วนใหญ่มักใช้โทนสีำดำในการนำเสนอในรูปลักษณ์ของเรือนล้านนาแบบต่างๆ แถมดูไม่ธรรมดาด้วยการประดับด้วยเขาควายสื่อถึงธรรมชาติและวิถีชีวิตดั้งเดิมแบบเกษตรกรรมของคนล้านนา สถูปเจดีย์บางแห่งอาจตกแต่งไว้เป็นสีขาวดูแล้วให้ระลึกว่าโลกเรานี้ก็มีเพียงสองด้านคือขาวกับดำความดีหรือความชั่วเท่านั้น

พอเคลื่อนตัวมาถึงใจกลางเมือง คุณจะพบหอศิลป์ไตยวน อาจารย์ ฉลอง พินิจสุวรรณ ผู้รังสรรค์งานศิลป์น่าอัศจรรย์ด้วยการใช้ปากกาลูกลื่นจุดลงไปบนแผ่นกระดาษสีขาวทีละจุดๆนับหมื่นนับแสนครั้งด้วยพลังสมาธิยิ่งใหญ่จนเกิดเป็นภาพงามในเชิงพุทธศิลป์และปรัชญาชีวิตที่ยากจะหาผู้ใดเทียมได้

ในขณะที่ คำจันทร์ ยาโน กลุ่มศิลปินแกะไม้บ้านถ้ำผาตอง สุวรรณ สามสี บ้านช้าง 108 ลีลา ตามสไตล์ของคนอารมณ์ดีลุงคำจันทร์ แกชอบแกะไม้สะท้อนชีวิตคนล้านนา บางชิ้นยังแอบมีมุขขำๆ ตามสไตล์ศิลปินพื้นบ้านอย่างลุงเขา นอกจากท่านแล้วก็ยังมี ลุงอำนวย บัวงาม ผู้สร้างงานไม้แกะสลัก
ได้อย่างวิจิตรพิสดารทั้งน้ำบวยกะลามะพร้าวแสดงวิถีชีวิตชาวล้านนาที่มีกลไกให้ขยับเขยื้อนได้อีกด้วย

ส่วนที่ บ้านดอยดินแดง ของอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ ที่นี่กลับมีงานศิลป์ร่วมสมัยผ่านเซรามิกชิ้นงาม มีให้ชมตั้งแต่ ถ้วยชากาแฟ จานชาม กาน้ำจนถึงงานศิลป์แนวแอบสแตร็กแบบอินสตอลเลชั่นที่อาจารย์เคยไปโชว์ผลงานของท่านในญี่ปุ่นมาแล้ว สไตล์งานของแกเลยค่อนข้างมีกลิ่นอายของเซนและกลมกลืนกับธรรมชาติ
และครั้นเดินทางไปถึง อ.แม่สรวย คุณจะพบว่า ผู้เฒ่าผู้แก่บ้านป่าแดด ต่างเก็บความฝันในวัยเด็กมาสร้างสรรค์เป็นของเล่นเด็กแบบโบราณน่ารักน่ารู้และน่าเล่น ของเล่นที่นี่ทำจากธรรมชาติล้วนๆ จากหนึ่งสมองสองมือของท่านทั้งนั้น มันอาจไม่วิจิตรซับซ้อนเหมือนของเล่นสมัยใหม่ แต่มันก็เรียบง่ายเสียจนต้องทึ่งและซึ้งใจไปกับความน่ารัก

ศิลปะกับชีวิตบางทีก็แยกจากกันไม่ขาดและชีวิตใดที่ขาดศิลปะมันก็คงมีแต่ความจืดชืดขาดสีสัน คงไม่ต่างจากเมืองเชียงรายที่ไม่เพียงอุดมไปด้วยทิวเขากลางสายลมหนาว หากยังเต็มไปด้วยความฝันและจินตนาการของผู้คนไม่ว่าโลกจะหมุนผ่านคืนวันเช่นไร พวกเขาก็ยังคงก้าวต่อไปในโลกใบเล็กๆ ของงานศิลป์เชียงรายจึงกลายเป็นเมืองของคนช่างฝันจับหัวใจทุกดวงให้อยู่หมัดด้วยจินตนาการน่ารัก และไม่มีทางสัมผัสอารมณ์แบบนี้ได้จากเมืองไหน